COLUMNIST

จาก "สบู่ดำ" ถึง "หญ้าเนเปียร์" ต่างกันที่นโยบายรัฐ
POSTED ON -


 

กว่า 8 ปีที่แล้วเห็นจะได้ สำหรับผู้ใส่ใจพลังงานที่ไม่เคยลืม วันที่ภาครัฐโหมส่งเสริมสบู่ดำแบบสั่งทุบหม้อข้าวทิ้ง ชาวไร่แทบจะหันมาปลูกกันทั้งประเทศ มีการวิ่งขอจองพื้นที่ปลูกกันคนละนับแสนไร่ เพื่อช่วยกันสร้างบ่อน้ำมันบนดิน ราวกับว่าวันรุ่งขึ้นคนไทยทั้งประเทศจะร่ำรวยเป็นเศรษฐีน้ำมันกันถ้วนหน้า

 

แต่แล้วงานเลี้ยงก็เลิกราอย่างรวดเร็วเพียง 2-3 ปี เมื่อผลวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งซึ่งได้รับงบประมาณจากกระทรวงพลังงานสรุปว่า "สบู่ดำไม่คุ้มค่าการลงทุน"  สถาบันการเงินจึงงดให้การสนับสนุนทันที ทำให้ฝันของคนไทยหลายคนสลายภายในไม่กี่วัน

 

แล้วภาครัฐทราบหรือไม่ว่าเอกชนเสียหายไปมากน้อยเพียงใด? ใครจะคิดว่าโครงการที่ระดับรัฐมนตรีออกมาเดินหน้าส่งเสริมจะจบลงง่ายดายเพียงชั่วข้ามคืน และนี่ก็คือบทเรียนแสนแพงของนักสู้ที่คิดจะกู้ชาติด้วยพลังงานทดแทน

 

มาถึงวันนี้ มีระดับรัฐมนตรีเช่นเคยออกมาส่งเสริม "หญ้าเนเปียร์" สร้างกระแสแบบไม่มีเกียร์ถอยหลัง ทั้งลดแลกแจกแถม แต่ถึงกระนั้นบรรดาผู้รักพลังงานทดแทนยังขยาดจากสบู่ดำไม่หาย จึงได้แต่ดูเชิง และมีคำถามมากมายที่หาคนอยากตอบได้ยาก แม้แต่ภาครัฐเองอย่างกระทรวงพลังงานก็ยังตอบแบบเสมอตัว ซึ่งท่านก็คงต้องไปเสี่ยงเอาเองแล้วคราวนี้

 

ก่อนที่จะไปหาหมอดู ลองอ่านบทความนี้แล้ววิเคราะห์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อาจไม่รวย แต่ก็ไม่จน แนวทางการส่งเสริมสบู่ดำกับหญ้าเนเปียร์มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันดังนี้

 

การส่งเสริมสบู่ดำ : เดินหน้าโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ออกหน้าส่งเสริมด้วยตนเอง โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งส่งเสริมเฉพาะการปลูก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเองไม่แน่ใจผลผลิตเท่าใดนัก และมีกระทรวงพลังงานเป็นผู้ร่วมโครงการสบู่ดำ

 

กรมส่งเสริมการเกษตรแจกต้นกล้าให้ชาวบ้านที่สนใจ แต่ไม่มีการตลาดรองรับ และไม่มีการอุดหนุนใดๆ แม้แต่การรับซื้อผลผลิต ท้ายที่สุดก่อนจะประกาศว่าสบู่ดำไม่คุ้มค่าการลงทุน ก็แนะนำให้ชาวบ้านปลูกสบู่ดำตามหัวไร่ปลายนาไปหมดแล้ว

 

การส่งเสริมหญ้าเนเปียร์ : เดินหน้าโดยกระทรวงพลังงาน โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจัดเต็ม ทั้งด้านการตลาดและเงินอุดหนุน ตั้งแต่การอุดหนุนโรงงานผลิตก๊าซ ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงเพิ่มอัตราการรับซื้อพลังงาน ทั้งยังลงทุนสร้าง Demo Plant และประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง

 

ส่วนด้านการปลูก กรมปศุสัตว์มีประสบการณ์มายาวนาน มีการพัฒนาพันธุ์หญ้าเนเปียร์จนเหมาะสมกับภูมิประเทศแบบเมืองไทย คือ ปลูกง่าย โตเร็ว ศัตรูพืชน้อย

 

ก่อนจะลงทุนบาทแรก มาลองดูข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างผลงานวิจัยของภาครัฐกับเอกชน

 

กรมปศุสัตว์ : เนเปียร์ ปากช่อง 1 เป็นพืชพลังงานชนิดใหม่ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างหญ้ายักษ์จากต่างประเทศกับหญ้าเลี้ยงสัตว์ของไทย โดยมีลักษณะเด่นดังนี้

 

1. เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตประมาณ 70-81 ตันต่อไร่ต่อปี

2. มีโปรตีน 8-10% เป็นอาหารที่สัตว์โปรดปราน

3. แตกกอดี ในฤดูหนาวยังเจริญเติบโตได้ดี ไม่มีระยะพักตัว

4. ใบและลำต้นอ่อนนุ่ม ขอบใบไม่คม มีขนน้อย

5. ตอบสนองต่อการให้น้ำและปุ๋ย ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 5-6 ครั้ง

6. ปลูกเพียงครั้งเดียว เก็บเกี่ยวได้นาน 6-7 ปี

 

นอกจากคุณลักษณะเด่นๆ ที่มากมายของหญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 แล้ว เนเปียร์ยังถูกใช้เพื่อหมักก๊าซชีวภาพ (Biogas) หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลผลิตไฟฟ้า (Biomass) ก็ได้ผลดี ต้นหญ้าเนเปียร์ที่อายุเกินกว่า 4 เดือน หากใช้หมักก๊าซจะได้ก๊าซต่ำ ควรนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล

 

นอกจากนี้ หญ้าเนเปียร์ยังเป็นอาหารที่สัตว์โปรดปรานและให้คุณค่าทางอาหารสูง ทดแทนการนำเข้าอาหารสัตว์ได้กว่าร้อยละ 50 ซึ่งเหมาะสำหรับการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม กระบือ แพะ และแกะ ได้ทั้งในรูปหญ้าสดและหญ้าหมักด้วย สำหรับท่านที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อไปได้ที่ คุณอานุภาพ เส็งสาย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ E-mail : nuphab@gmail.com

 

 

ภาคเอกชน : มีการทดสอบเชิงพาณิชย์โดยใช้เทคโนโลยี Cowtec Anaerobic Digestion ซึ่งเป็น เทคโนโลยีแบบใช้ถังหมักเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปผลิตกระแสไฟฟ้า หรือผลิต CBG (Compressed Biogas) ก็ได้ผลดีเช่นกัน ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นการทดลองและวิจัยของ คุณพรอรัญ สุวรรณพลาย รองเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ดร.ปราโมทย์ ศิริโรจน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยได้มีการนำหญ้าเนเปียร์ไปหมักในเครื่องผลิตก๊าซชีวภาพ Cowtec ขนาด 2.5 ตันต่อวัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 227.50 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ 423 กิโลวัตต์ หรือผลิต CBG ได้ 113 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้มีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการเกิดก๊าซของหญ้าแต่ละชนิดมาให้เป็นข้อมูลตัดสินใจ ดังนี้

 

เปรียบเทียบข้อมูลพันธุ์หญ้าชนิดต่างๆ โดยวิธีการหมักแบบกึ่งต่อเนื่อง

พันธุ์หญ้า

COD (mg/L)

ปริมาณก๊าซชีวภาพ (ลิตร/วัน)

เนเปียร์ยักษ์

138,560

76.62

หญ้าอัลลาฟัล

166,320

91.97

บาน่า

128,180

70.88

 

 

การพัฒนาก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์อาจสรุปได้ว่า

 

Methane Yield (280 m3 - cH4/ton-vs)

หญ้าเนเปียร์ 1 ton fresh มี vs 204 kg

VS 1 ton จะต้องมีหญ้าเนเปียร์สด 4.9 ตัน

ดังนั้น หญ้าเนเปียร์สด 4.9 ตัน สามารถผลิตมีเทนได้ 280 ลูกบาศก์เมตร

หรือสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 280/0.55 = 509 ลูกบาศก์เมตร

ส่วนท่านใดที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดลองและวิจัยนี้ สามารถติดต่อ คุณพรอรัญ สุวรรณพลาย ได้โดยตรง หรือ E-mail : pornaran@hotmail.com

 

การที่ผู้เขียนได้นำข้อมูลของกรมปศุสัตว์มานำเสนอเพื่อเปรียบเทียบ เนื่องจากทางกรมปศุสัตว์มีประสบการณ์ด้านการปลูกหญ้าเนเปียร์มากว่า 10 ปี ส่วนกระทรวงพลังงานโดยท่านรัฐมนตรีเป็นฝ่ายส่งเสริมให้นำมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันจากฟอสซิล สำหรับข้อมูลภาคเอกชนนั้นเป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้แล้ว โดยเฉพาะอย่าง Cowtec ผู้มีประสบการณ์ด้านการผลิตเครื่องหมักก๊าซจากเศษวัสดุทางการเกษตรมายาวนาน ข้อมูลทั้งหลายจึงน่าจะเพียงพอในการตัดสินใจมากกว่าไปถามหมอดู

 

ถ้ายังไม่เพียงพอสามารถสอบถามโดยตรงมาได้ที่ "คลีนิกพลังงานทดแทน" (ทุกคำถามมีคำตอบ ทุกปัญหามีทางออก) ของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ติดต่อ คุณศตวรรณ ทองเครือมา โทร.0-2345-1162 หรือ E-mail : tinsuntisook@yahoo.com

 

ไม่ว่าท่านจะร่ำรวยล้นฟ้าหรือยากจนข้นแค้นเพียงใด ไม่ว่าท่านจะมีน้ำใจหรือเห็นใครดีกว่าไม่ได้ ต่างก็ต้องใช้พลังงานด้วยกันทั้งสิ้น เส้นทางธุรกิจพลังงานทดแทนยังเปิดกว้างรอรับนักลงทุนและนักพัฒนาโครงการที่ใจสู้เสมอ